AI Chatbot กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่หลายธุรกิจเริ่มหันมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องการวิธีที่จะสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกค้าโดยที่ไม่เพิ่มภาระให้กับทีมงาน การเลือกใช้ AI Chatbot ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าของคุณ และยังทำให้คุณดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการได้อย่างราบรื่น ซึ่งบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของ AI Chatbot ไปจนถึงแนวทางการเลือกใช้เครื่องมือ ที่คุณอาจนำประยุกต์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองได้
AI คืออะไร?
AI หรือ Artificial Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถเรียนรู้และแก้ไขปัญหาได้เหมือนมนุษย์ เปรียบเหมือนการจำลองมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูล วางแผน และให้ไอเดียได้ อีกทั้งยังมีการจดจำ แยกแยะ และมีการใช้เหตุและผลประกอบการตัดสินใจได้อีกด้วย จึงทำให้ปัจจุบันหลายธุรกิจนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องไม่มีหยุดพัก แล้วประเภทของ AI ล่ะมีอะไรบ้าง? วันนี้เรามาทำความรู้จักกัน
อ่านบทความเพิ่มเติม : รู้จักกับ AI คืออะไร? ทำงานอย่างไร มีอะไรบ้าง ข้อดี-ข้อเสีย
ประเภทของ AI มีอะไรบ้าง?
Artificial Narrow Intelligence (ANI)
ประเภทนี้มีอีกชื่อคือ Weak AI เป็นรูปแบบของ AI ที่เป็นที่นิยมในตลาดปัจจุบัน ถูกออกแบบการทำงานมาเฉพาะด้านหรือจะต้องมีโปรแกรมคำสั่งมาเท่านั้น จึงไม่สามารถทำงานนอกเหนือคำสั่ง หรือเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
Artificial General Intelligence (AGI)
หรือที่เรียกกันว่า Strong AI เป็นระบบ AI ที่มีสติปัญญาสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจกับคำถามได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยืดหยุ่นคล้ายความสามารถของมนุษย์ ยกตัวอย่าง AGI จะเป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยงานบ้านทั่วไป หรือสำรวจนอกโลก
Artificial Super Intelligence (ASI)
สุดยอด AI อัจฉริยะหรือที่เรียกกันว่าปัญญาประดิษฐ์เหนือมนุษย์ ซึ่งมีความสามารถรอบด้านที่ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนา AI ในระดับนี้ขึ้นมาได้
จากประเภทที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเป็นเพียงส่วนนึงที่ถูกแบ่งตามความสามารถเท่านั้น แต่ยังมี AI ที่ถูกพัฒนาเพื่อนำไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้การทำงานของเราง่ายขึ้นอีกระดับ ทั้งยังให้ความรู้สึกต่อเนื่องในการสนทนา ไม่เพียงเท่านั้นแถมยังให้คำแนะนำเพื่อให้คำปรึกษาจากการเรียนรู้ได้อีกด้วย จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำความสามารถของ AI มาช่วยในการต่อยอดธุรกิจอีกด้วย
AI Chatbot คืออะไร ?
Chatbot หมายถึงอะไร?
คำว่า “Chatbot” มาจากการรวมกันของคำว่า “Chat” (การสนทนา) และ “Robot” (หุ่นยนต์) ซึ่ง AI Chatbot คือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้งานผ่านข้อความหรือเสียง โดยเริ่มต้นจากการทำหน้าที่ตอบคำถามหรือให้ข้อมูลตามที่ตั้งค่าไว้ในระบบ
ระบบ Chatbot คืออะไร?
แชทบอทมีการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) เข้ามา AI Chatbot จึงสามารถ “เรียนรู้” จากบทสนทนา วิเคราะห์เจตนาของผู้ใช้งาน และตอบกลับได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงการตอบตามสคริปต์เดิม
ระบบ AI Chatbot สมัยใหม่จึงถูกนำไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Line OA, Facebook Messenger หรือ WhatsApp รวมถึงระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เพื่อช่วยธุรกิจในการให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังสามารถดึงข้อมูลจากคำถามหรือพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตอบกลับทุกครั้งที่มีการใช้งาน
อ่านบทความเพิ่มเติม : CRM คืออะไร? เราจะใช้ประโยชน์จาก CRM ได้ยังไง
AI Chatbot ต่างจาก Chatbot ปกติอย่างไร?
AI Chatbot
แชทบอทที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP – Natural Language Processing) ทำให้สามารถเข้าใจภาษาและบริบทของข้อความที่มนุษย์สื่อสารได้อย่างลึกซึ้ง มีความสามารถในการวิเคราะห์เจตนา (Intent) ของผู้ใช้งาน และสามารถตอบสนองได้อย่างยืดหยุ่นแม้ไม่ได้รับข้อความในรูปแบบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ AI Chatbot ยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาความสามารถได้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ที่ได้รับ หรือ Machine Learning
Machine Learning คืออะไร? เทคโนโลยีนี้คือการเรียนรู้ของเครื่อง เป็นสาขาย่อยของ AI ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบให้สามารถเรียนรู้จากข้อมูลและประสบการณ์โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมอย่างชัดเจน
Chatbot แบบดั้งเดิม
แชทบอทที่ทำงานตามชุดคำสั่งหรือกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้า การตอบสนองจะขึ้นอยู่กับการจับคู่คีย์เวิร์ด หรือการเลือกตัวเลือกที่ตั้งไว้ หากผู้ใช้งานส่งข้อความนอกเหนือจากที่ตั้งโปรแกรมไว้ ระบบจะไม่สามารถทำความเข้าใจหรือโต้ตอบได้อย่างเหมาะสม Chatbot ประเภทนี้ไม่มีความสามารถในการเรียนรู้หรือปรับตัวเอง ต้องได้รับการอัปเดตหรือแก้ไขจากผู้ดูแลระบบเท่านั้น
AI Chatbot ทำงานอย่างไร ?
แม้เบื้องหลังของ AI Chatbot จะดูซับซ้อน แต่โครงสร้างการทำงานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ที่ช่วยให้บอทเข้าใจและตอบสนองผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP)
NLP คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นข้อความหรือเสียง เช่น การตัดคำ การแยกประโยค การวิเคราะห์ไวยากรณ์ รวมถึงการแยกคำที่มีความหมายจากคำที่ไม่มีสาระสำคัญ เพื่อให้บอทเข้าใจสิ่งที่ผู้ใช้สื่อสาร
ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญดังนี้
Tokenization – การตัดคำหรือแยกคำออกจากกัน เพื่อให้ระบบเข้าใจโครงสร้างของข้อความ
Sentiment analysis – การวิเคราะห์ความรู้สึกของผู้ใช้ เพื่อช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมว่าเป็น Positive หรือ Negative ทำให้เราสามารถแยกแยะเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
Entity recognition – การระบุและจัดหมวดหมู่ข้อมูลที่สำคัญ
Dependency parsing – คือการค้นหาว่าข้อมูลทั้งหมดในประโยคเกี่ยวข้องกันอย่างไร”
2. การเข้าใจเจตนาและบริบท (Intent Recognition & NLU)
เมื่อบอทสามารถอ่านและแปลความภาษาธรรมชาติได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตีความว่า ผู้ใช้งานต้องการอะไร หรือมีเจตนาอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Natural Language Understanding (NLU) โดยระบบจะวิเคราะห์จากข้อความเพื่อระบุจุดประสงค์ เช่น ต้องการสอบถามโปรโมชั่น ขอความช่วยเหลือ หรือต้องการเช็กสถานะคำสั่งซื้อ พร้อมดึงข้อมูลสำคัญจากบทสนทนา
3. การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Machine Learning / Deep Learning)
AI Chatbot ที่มีความสามารถขั้นสูงจะใช้ระบบ Machine Learning หรือ Deep Learning เข้ามาช่วยในการเรียนรู้จากข้อมูลบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง เมื่อมีการใช้งานบ่อยครั้ง บอทจะสามารถจดจำรูปแบบพฤติกรรม วิเคราะห์คำถามซ้ำ ๆ และปรับการตอบให้แม่นยำและเป็นธรรมชาติมากขึ้นในอนาคต
AI Chatbot มีกี่ประเภท? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร
AI Chatbot สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามลักษณะการทำงานและความสามารถในการตอบสนองต่อผู้ใช้ ดังนี้
1. Rule-Based Chatbot
หรือเรียกว่า Script-Chatbot คือระบบที่ทำงานตามชุดคำสั่งหรือกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยจะตอบคำถามได้เฉพาะที่อยู่ในเงื่อนไขที่ตั้งไว้ เช่น คำถาม FAQ หรืองานที่มีรูปแบบตายตัว
ข้อดี – พัฒนาและควบคุมง่าย
ข้อจำกัด – ไม่สามารถตอบคำถามที่อยู่นอกเหนือจากสคริปต์ หรือที่มีภาษาซับซ้อนได้
2. Menu-Based Chatbot (หรือ Button-Based Chatbot)
เป็นระบบที่แสดงตัวเลือกหรือเมนูให้ผู้ใช้เลือกคำตอบ ไม่ต้องพิมพ์ข้อความเอง เหมาะสำหรับคำถามที่มีโครงสร้างแน่นอน
ข้อดี – ใช้งานง่าย ลดความผิดพลาดจากการพิมพ์
ข้อจำกัด – จำกัดในเรื่องการสนทนา ไม่สามารถเข้าใจภาษาธรรมชาติได้
3. Keyword Recognition Chatbot
ใช้วิธีตรวจจับคำหรือวลี (Keywords) ที่ผู้ใช้พิมพ์ และตอบสนองตามคำที่กำหนดไว้ล่วงหน้า มีความยืดหยุ่นกว่าระบบเมนู แต่ยังอยู่ในกรอบคำที่กำหนดไว้
ข้อดี – ง่ายต่อการพัฒนา รองรับคำถามได้หลากหลายขึ้น
ข้อจำกัด – ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายเชิงลึกหรือบริบทได้
4. AI-Powered Chatbot (หรือ Conversational AI Chatbot)
เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยี AI, NLP (Natural Language Processing) และ Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ความหมาย เจตนา และบริบทของข้อความที่ผู้ใช้พิมพ์เข้ามา
ข้อดี – เข้าใจภาษาธรรมชาติได้ดี ตอบคำถามซับซ้อนได้
ข้อจำกัด – ใช้ทรัพยากรในการพัฒนาและดูแลสูง เช่น ChatGPT, Siri, Google Assistant
5. Hybrid Chatbot
เป็นการรวมข้อดีของ Rule-Based และ AI-Powered Chatbot เข้าด้วยกัน โดยสามารถตอบคำถามทั่วไปได้อย่างรวดเร็วผ่านกฎ และใช้ AI เมื่อเจอคำถามที่ซับซ้อนหรือคลุมเครือ
ข้อดี – ยืดหยุ่น ครอบคลุมหลายกรณีการใช้งาน
ข้อจำกัด – ต้องมีการออกแบบระบบอย่างรอบคอบเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ดี
6. Voice-Enabled Chatbot (Chatbot แบบสั่งงานด้วยเสียง)
โต้ตอบด้วยเสียงโดยใช้เทคโนโลยี Speech-to-Text และ Text-to-Speech เช่น Siri, Alexa, Google Assistant เหมาะกับการใช้งานในระบบสมาร์ทโฮม โทรศัพท์ หรือ IoT
ข้อดี – ใช้งานสะดวก ไม่ต้องพิมพ์
ข้อจำกัด – อาจมีข้อผิดพลาดจากเสียงแวดล้อม หรือสำเนียงต่าง ๆ
บทบาทของ AI Chatbot ในปัจจุบัน
ให้ข้อมูลเบื้องต้นได้อย่างครบถ้วน
แชทบอทสามารถช่วยตอบคำถามทั่วไป เช่น การใช้งานเบื้องต้น การแนะนำผลิตภัณฑ์ หรือบริการหลังการขาย ช่วยให้ลูกค้าได้รับคำตอบอย่างรวดเร็ว
ส่งเสริมด้านการตลาดและการขาย
แชทบอทยังสามารถแนะนำสินค้า เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค และช่วยปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใช้งานในด้านการศึกษาและสุขภาพ
ปัจจุบันมีการนำ Chatbot ไปใช้งานในรูปแบบผู้ช่วยสอนออนไลน์ หรือให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเบื้องต้น ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้สะดวกและปลอดภัย
Script-Chatbot หรือ Rule-Based Chatbot คืออะไร ต่างกันอย่างไร?
Smart Chatbot
คือแชทบอทที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น NLP (Natural Language Processing) และ Machine Learning ที่ทำให้บอทสามารถเข้าใจภาษา เจตนา บริบทของข้อความ และยังโต้ตอบกลับได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ รวมถึงมีการเรียนรู้อยู่เสมอเพื่อนำไปพัฒนาความแม่นยำในการให้คำตอบในครั้งต่อ ๆ ไป เหมาะกับการใช้งานที่ซับซ้อน เช่น บริการลูกค้า หรือแพลตฟอร์มที่ต้องรองรับคำถามหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้
Script Chatbot
Script Chatbot หรือเรียกอีกชื่อว่า Rule-Based Chatbot คือแชทบอทที่ทำงานตามสคริปต์หรือกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า บอทจะตอบสนองเฉพาะคำถามหรือคำสั่งที่อยู่ในขอบเขตที่ผู้พัฒนาตั้งไว้ หากผู้ใช้ถามนอกเหนือจากที่ตั้งค่าไว้ ระบบจะไม่สามารถเข้าใจหรือโต้ตอบได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งความแตกต่างของสองเทคโนโลยีนี้คือ Smart Chatbot มีความสามารถในการโต้ตอบที่ยืดหยุ่น เข้าใจภาษาและเจตนาได้ลึกซึ้ง เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความเป็นธรรมชาติและสามารถปรับตัวได้ ส่วน แต่ Script Chatbot จะเหมาะกับงานที่มีโครงสร้างแน่นอน ควบคุมง่าย และไม่ต้องการการวิเคราะห์ข้อความเชิงลึก
ประโยชน์ของ AI Chatbot ต่อธุรกิจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
AI Chatbot ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับการให้บริการของธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระของทีมงาน แต่ยังสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยสามารถแบ่งประโยชน์ออกได้หลากหลายมิติ ดังนี้
ให้บริการได้ตลอด 24/7
AI Chatbot สามารถตอบคำถามและให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ตลอดเวลา แม้ในช่วงเวลากลางคืนหรือวันหยุด นักธุรกิจสามารถมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับการตอบกลับโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่จริง
ตอบสนองรวดเร็ว และแม่นยำทุกครั้ง
ด้วยระบบการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ แชทบอทสามารถตอบคำถามพื้นฐาน เช่น เวลาทำการ วิธีการสั่งซื้อ หรือขั้นตอนการขอคืนสินค้าได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอทุกครั้ง ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง
รองรับลูกค้าพร้อมกันได้จำนวนมาก
ไม่ว่าจะมีลูกค้าติดต่อเข้ามาพร้อมกันกี่ราย AI Chatbot สามารถจัดการได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อคิว ช่วยลดเวลาในการรอและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
ลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล
การใช้แชทบอทช่วยลดจำนวนพนักงานที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ เช่น การตอบคำถามทั่วไป ซึ่งช่วยให้สามารถจัดสรรบุคลากรไปทำงานที่ซับซ้อนและสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ด้วยความสามารถในการทำงานแบบอัตโนมัติและไม่จำกัดเวลา แชทบอทเปรียบเสมือนพนักงานที่ไม่ล้า ไม่หยุดพัก และพร้อมให้บริการตลอดเวลา
เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจ
ทุกบทสนทนาที่เกิดขึ้นสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า ช่วยวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างการใช้งาน AI Chatbot ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
AI Chatbot ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานในแต่ละภาคธุรกิจ มีดังนี้
ธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ
AI Chatbot ช่วยแนะนำสินค้า ตอบคำถามเกี่ยวกับการสั่งซื้อ ตรวจสอบสถานะการจัดส่ง และให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ราบรื่นและต่อเนื่อง
ธุรกิจการเงินและธนาคาร
แชทบอทสามารถให้ข้อมูลบัญชี อัตราดอกเบี้ย แจ้งเตือนธุรกรรม และให้คำปรึกษาเบื้องต้นด้านการเงิน ช่วยลดภาระของคอลเซ็นเตอร์ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที
ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม
ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลห้องพัก โปรโมชั่น หรือทำการจองได้ผ่านแชทบอท รวมถึงรับคำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและกฎระเบียบการเดินทาง เพิ่มความสะดวกสบายตลอดการเดินทาง
ธุรกิจสุขภาพและการแพทย์
AI Chatbot ช่วยนัดหมายแพทย์ ให้ข้อมูลด้านสุขภาพทั่วไป ติดตามอาการของผู้ป่วย และแจ้งเตือนการรับประทานยา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการโดยไม่ลดคุณภาพ
ธุรกิจการศึกษา
สถาบันการศึกษาสามารถใช้แชทบอทตอบคำถามเกี่ยวกับหลักสูตร กำหนดการ หรือขั้นตอนการลงทะเบียน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
Chatbot ช่วยคัดกรองลูกค้าเบื้องต้น ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ราคา และนัดหมายเข้าชม ช่วยให้ตัวแทนขายสามารถโฟกัสกับการปิดการขายได้มากขึ้น
ธุรกิจให้บริการลูกค้า
ในองค์กรที่มีฝ่ายบริการลูกค้าขนาดใหญ่ แชทบอทสามารถรับมือกับคำถามที่พบบ่อย เช่น การรีเซ็ตรหัสผ่าน หรือเช็กสถานะคำสั่งซื้อ โดยส่งต่อเฉพาะเคสที่ซับซ้อนให้เจ้าหน้าที่
ธุรกิจเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์
บริษัทด้านเทคโนโลยีสามารถใช้แชทบอทในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเบื้องต้น ตอบคำถาม FAQ และสนับสนุนลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระของทีมซัพพอร์ต
แนะนำแพลตฟอร์ม AI Chatbot ที่ใช้งานง่าย
1. Botpress
โอเพ่นซอร์สสำหรับนักพัฒนาและองค์กรที่ต้องการสร้างแชทบอทแบบปรับแต่งลึก รองรับการทำ Natural Language Understanding (NLU) และสามารถเชื่อมต่อ API ภายนอกได้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมโครงสร้างบอทและประสบการณ์ใช้งานอย่างละเอียด
จุดเด่น: รองรับภาษาไทย สามารถปรับแต่งได้สูง เหมาะสำหรับองค์กรที่มีทีมพัฒนา
เว็บไซต์: botpress.com
2. Dialogflow (โดย Google)
เครื่องมือพัฒนาแชทบอทที่ทำงานบน Google Cloud ใช้งานง่ายและเชื่อมต่อกับช่องทางต่าง ๆ ได้สะดวก เช่น LINE, Facebook Messenger, เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันมือถือ ใช้ระบบ Intent Recognition ที่แม่นยำในการเข้าใจเจตนาของผู้ใช้
จุดเด่น: เชื่อมต่อหลายช่องทาง วิเคราะห์ภาษาได้แม่นยำ มีระบบ Machine Learning
เว็บไซต์: dialogflow.cloud.google.com
3. IBM watsonx Assistant
โซลูชันระดับองค์กรจาก IBM ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการสื่อสารกับลูกค้าในเชิงลึก สามารถผสานการทำงานกับระบบภายใน เช่น CRM หรือฐานข้อมูลหลังบ้าน และรองรับภาษาไทย
จุดเด่น: เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ ใช้งานในองค์กรหรือเว็บไซต์ได้ มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง
เว็บไซต์: IBM watsonx Assistant
4. ManyChat
แพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับธุรกิจที่เน้นการตลาดผ่าน Facebook, Instagram และ WhatsApp ใช้งานง่ายด้วยระบบแบบลากวาง พร้อมเครื่องมืออัตโนมัติ เช่น การตอบกลับอัตโนมัติ การส่งข้อความตามเวลา และระบบจัดการลีดครบวงจร
จุดเด่น: ไม่ต้องเขียนโค้ด เน้นด้านการตลาดและอีคอมเมิร์ซ และมีฟีเจอร์ Broadcast
เว็บไซต์: manychat.com
5. Amazon Lex
บริการจาก AWS ที่ใช้ AI เดียวกับ Alexa ช่วยสร้างบอทที่สามารถเข้าใจและโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับบริการอื่น ๆ ของ AWS เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการระบบแชทบอทที่สามารถขยายขีดความสามารถได้ในอนาคต
จุดเด่น: ทำงานร่วมกับบริการ AWS ได้ลื่นไหล, รองรับภาษาไทยบางส่วน, ใช้ NLP คุณภาพสูง
เว็บไซต์: aws.amazon.com/lex
6. zwiz.ai
แชทบอทฝีมือคนไทยที่ออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการ SME และร้านค้าออนไลน์ ใช้งานได้กับ LINE OA และ Facebook Page พร้อมระบบเก็บออเดอร์ การแจ้งเตือน และฟีเจอร์รายงานยอดขาย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านเทคนิค
จุดเด่น: ใช้งานง่าย รองรับภาษาไทยเต็มรูปแบบ มีระบบจัดการร้านค้าออนไลน์
เว็บไซต์: zwiz.ai
7. OneChat
แพลตฟอร์มของไทยที่เน้นการใช้งานร่วมกับ Facebook และ LINE มีเครื่องมือสร้างบอทแบบลากวาง รองรับระบบตอบกลับอัตโนมัติ รายงานข้อมูลลูกค้า และฟีเจอร์การทำการตลาด เช่น Broadcast และแคมเปญเฉพาะกิจ
จุดเด่น: เหมาะกับผู้เริ่มต้น ฟีเจอร์ครบในตัว รองรับธุรกิจไทยทุกขนาด
เว็บไซต์: onechat.ai
8. Connect X
แชทบอทที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจไทยที่เน้นการใช้ LINE OA โดยเฉพาะ มาพร้อมระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) การออกแบบข้อความแบบกำหนดเอง และการส่งข้อความแบบ Broadcast
จุดเด่น: ระบบ CRM ในตัว รองรับภาษาไทยและอังกฤษ เหมาะกับธุรกิจบริการ
เว็บไซต์: connect-x.tech
AI Chatbot กับอนาคตของธุรกิจไทยจะเป็นยังไงต่อ?
เทคโนโลยีนี้กำลังจะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญในด้านธุรกิจ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน และถ้าหากพูดถึงแนวโน้มการเติบโตนั้น ตลาด Chatbot ในไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะต้นทุนการให้บริการที่ต่ำลง รวมถึงความคุ้นเคยที่ผู้บริโภคมีต่อแชทบอท แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีศักยภาพ แต่การนำมาใช้งานจริงก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงให้แชทบอทมีความเข้าใจในบริบทของภาษาไทยมากขึ้น หรือศัพท์เฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งยังเป็นสิ่งที่แชทบอทควรได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มหลักในอนาคต ได้แก่
การบริการแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) – วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อให้บริการที่ตรงจุดและเฉพาะบุคคลมากขึ้น
การเชื่อมต่อระบบอื่น ๆ (Integration) – ทำงานร่วมกับระบบ CRM, ERP หรือ IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร
รองรับ Multi-Channel – ให้บริการครอบคลุมทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ แอป โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเสียงและ AR
การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) – ใช้ข้อมูลจากการสนทนาในการปรับปรุงกลยุทธ์ธุรกิจและบริการ
สนับสนุนภาครัฐและสังคม – ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการรัฐ พร้อมดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ
เทคโนโลยี AI Chatbot กำลังก้าวสู่บทบาทสำคัญในการยกระดับธุรกิจไทย ด้วยความสามารถในการให้บริการอัตโนมัติอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และประหยัดต้นทุน แต่ก็ยังต้องพัฒนาให้เข้าใจภาษาและบริบทเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน
ทำไมธุรกิจควรเริ่มใช้ AI Chatbot?
เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ความคาดหวังในการรับบริการแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมงกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับทุกธุรกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ ธุรกิจได้นำ AI Chatbot เข้ามาใช้งาน เพราะไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ช่วยตอบแชต หรือช่วยลดภาระทีมงาน แต่ยังเป็นการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธุรกิจให้บริการได้รวดเร็ว สม่ำเสมอ และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น
หากคุณกำลังเริ่มต้น หรือมองหาทางเลือกใหม่ในการดูแลลูกค้า การเริ่มต้นกับ AI Chatbot วันนี้คือจังหวะที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บไซต์และเทคโนโลยี AI อย่าง Yes Web Design Studio เราเป็นบริษัทเว็บดีไซน์ชั้นนำในไทยที่ไม่เพียงรับทำเว็บไซต์ แต่ยังให้คำปรึกษาด้านการตลาดดิจิทัลและ AI Solution อย่างครบวงจร และสามารถให้คำแนะนำเรื่องการนำ AI มาใช้ในธุรกิจเป็น
Yes Web Design Studio
Tel. : 096-879-5445
LINE : @yeswebdesign
E-mail : [email protected]
Address : ชั้น 17 อาคารวิทยกิตติ์ ถนนพญาไท วังใหม่ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 (สถานี BTS สยาม)
ที่มาของข้อมูล
- https://www.ibm.com/think/topics/chatbots
- https://en.wikipedia.org/wiki/Chatbot
- https://www.cm.com/glossary/what-is-ai-chatbot/
- https://www.giosg.com/blog/what-is-ai-chatbot