เว็บไซต์คุกกี้คืออะไร ปลอดภัยหรือไม่สำหรับผู้ใช้และผู้เก็บข้อมูล

บทความโดย Yes Web Design Studio

เห็นชื่อหัวข้อแล้ว บางคนอาจจะยังงงอยู่ว่าบทความนี้กำลังจะพูดถึงขนมอยู่หรือเปล่าน้าา เปล่าครับ สิ่งที่พวกเราอยากจะมาแชร์เป็นสาระความรู้ให้ทุกท่านได้อ่านจะเกี่ยวกับเรื่อง เว็บไซต์ โดยตรงเลยครับ สำหรับคนที่กำลังมีแพลนอยากจะมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองหรือคนทั่วไปที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว

ทุกคนเคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมบางทีเว็บไซต์มักจะจดจำรหัสการเข้าใช้งานเราได้ หรือบางครั้งที่เราเคยเข้าไปเลือกซื้อของตามเว็บไซต์สั่งซื้อของออนไลน์ เลือกเก็บรายการสั่งซื้อของเราไว้ในตะกร้าสินค้าและทำการออกจากหน้าเว็บไซต์ไปโดยที่ยังไม่ทำการชำระเงิน แต่เมื่อเรากลับเข้ามาที่เว็บไซต์ดังกล่าวใหม่อีกทีก็พบว่า สินค้าที่เราเก็บไว้ในตะกร้านั้นยังคงอยู่ นั่นหมายความว่าอย่างไร เคยสงสัยกันบ้างมั้ยครับ 🙂 เจ้าสิ่งนี้แหละครับที่เรียกว่าคุกกี้ แต่คุกกี้เองก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน ซึ่งจะถูกจำแนกการทำงานออกได้ดังต่อไปนี้

  • ในการทำงานแบบแรก คุกกี้มันจะจดจำรหัสของคุณ เมื่อคุณกด save รหัสผ่านบนเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องใส่รหัสผ่านอีกครั้งเมื่อมีการเข้าไปเว็บไซต์นั้นอีกครั้ง
  • จดจำเว็บไซต์ที่คุณเคยเข้าในอดีต และคุณสามารถย้อนดูประวัติการเข้าชมได้ในเมนู ประวัติการเข้าชม ของเว็บบราวเซอร์นั้นๆ
  • เก็บข้อมูลตะกร้าสินค้าของคุณในเว็บไซต์ ecommerce ที่คุณได้เคยหยิบสินค้าไว้บนเว็บบราวเซอร์
  • แสดงโฆษณาที่ตรงเป้าหมายตามพฤติกรรมการท่องเว็บของคุณ
  • ตรวจสอบรายละเอียดการเข้าสู่ระบบของผู้ใช้

โดยเริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินบ่อยๆในเรื่องของข่าวที่เกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่ว่าด้วยเรื่องของการเก็บข้อมูลของผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาติ หรือที่เราเรียกว่า PDPA (ใช้ในไทย) GDPR(ใช้ต่างประเทศ) แต่ในไทย PDPA นั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มใช้เมื่อใด แต่ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการใช้งานที่เป็นทางการนั้น ทางผู้ประกอบการหรือเจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการแจ้งกับผู้ใช้ว่าจะมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้อะไรบ้างเพื่อการให้บริการผู้ใช้ที่มีประสิทธิภาพ โดยที่คุณสามารถจะเลือกที่จะยืนยันที่จะให้ทางผู้ให้บริการเก็บข้อมูลหรือไม่ให้มีการเก็บข้อมูล ทั้งนี้บางเว็บไซต์คุณอาจจะใช้งานไม่ได้เนื่องจากนโยบายของเว็บไซต์จำเป็นต้องมีการยินยอมให้ข้อมูลจึงจะเข้าถึงเว็บไซต์ได้ ซึ่งวิธีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ของแต่ละผู้ใช้บริการก็จะใช้เจ้าคุกกี้นี่แหละครับในการเก็บข้อมูลต่างๆเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการให้บริการและนำไปวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจในทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

ในบทความนี้เราจะพูดถึง…

  • ข้อดีของ คุกกี้
  • ข้อเสียของ คุกกี้
  • ประเภทของคุกกี้
  • สรุป

ข้อดีของคุกกี้

เมื่อพูดถึงคุกกี้แล้วในผู้ให้บริการส่วนใหญ่หรือเกือบจะทุกๆผู้ให้บริการจะมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ เช่น พฤติกรรมการใช้งานของคุณ ซึ่งนั่นหมายความว่าข้อมูลของคุณจะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบหรือรูปแบบการใช้งานเว็บไซต์นั้นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์และตอบโจทย์ต่อผู้ใช้มากที่สุด และข้อดีของคุกกี้ก็จะประกอบไปด้วย

  • คุกกี้จะมีการจดจำเวลาที่คุณเข้าไปยังเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งและจะปรากฏโฆษณาที่มาจากแพลทฟอร์มต่างๆ ซึ่งคุณจะเห็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับคุณเท่านั้น
  • คุกกี้จะมีการบันทึกทั้งชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของคุณเวลาที่คุณเข้าใช้งาน และเวลาที่คุณเข้าใช้งานเว็บอื่นแล้วกลับมายังเว็บไซต์เดิม คุณก็ยังสามารถเข้าใช้งานได้โดยไม่ต้องกรอกรหัสผ่านเพื่อเข้าใช้งานอีกครั้ง *แต่บางบราวเซอร์ผู้ใช้อาจจะเห็นว่าเบราเซอร์จะมีการขึ้นแจ้งเตือนว่าจะให้มีการบันทึกรหัสผ่านหรือไม่ ถ้าคุณเลือกบันทึก คุกกี้ก็จะบันทึกรหัสผ่านของคุณทันที เพราะฉะนั้นแล้วก็ถือเป็นข้อดีอีกข้อที่เราไม่จำเป็นต้องกรอกรหัสเพื่อเข้าสู่ระบบอีกครั้งก็เป็นการลดขั้นตอนลงได้
  • คุกกี้สามารถจดจำพฤติกรรมการใช้งานเบราเซอร์ของคุณได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณค้นหาข้อมูลอะไรบ่อยๆเรา Search engine ก็จะปรากฏเว็บไซต์ที่เข้าชมบ่อยเป็นอันดับต้นๆของผลลัพธ์ของการค้นหา

ข้อเสียของคุกกี้

ในทางกลับกันมันก็มีข้อเสียของคุกกี้อยู่เช่นเดียวกัน และคุณก็อาจจะต้องพิจารณาดูเว็บไซต์ที่มีการขอการยินยอมการให้ข้อมูลจากคุณ ว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

  • แน่นอนว่าในบางครั้งอาจจะมีบุคคลที่สามหรือหมายความว่าอาจจะมีเว็บไซต์อื่นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอันเป็นส่วนตัวของคุณได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นก่อนจะกดยินยอมให้จดจำหรือจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวควรจะอ่านนโยบายการเก็บข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ และยิ่งเป็นเว็บไซต์ที่ต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินแล้วยิ่งต้องเพิ่มความรอบคอบขึ้นอีกหลายเท่า เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดคุณจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแก้ไขในภายหลัง 
  • ใช่ครับ ในบางครั้งคุณอาจจะรู้สึกว่ามีบางคนกำลังดูพฤติกรรมการเข้าเว็บไซต์ของคุณอยู่ ซึ่งทำให้เรารู้สึกได้ว่าไม่ได้รับความเป็นส่วนตัว
  • ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะลบคุกกี้ที่ไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะให้บางโฆษณาหรือไวรัสบางตัวที่มาจากบุคคลที่สามหรือ Third party ที่ค่อยยิงโฆษณานั้นมายังเบราเซอร์ของคุณไม่หยุด ก็จะสร้างความรำคาญให้คุณได้พอสมควร
  • สิ่งที่อันตรายก็คือ ไวรัส บางตัว จะปลอมตัวเป็นคุกกี้และหลอกให้คุณกดยินยอมเพื่อเข้าถึงผลลัพธ์การค้นหาของคุณ แบบนี้คุณต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนที่จะเผลอกดยินยอมไปมั่วๆ มิฉะนั้นแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอาจเป็นเรื่องกวนใจของคุณไม่ใช่น้อย

สิ่งสำคัญคือคุณต้องเข้าใจว่าคุกกี้ทำงานอย่างไรและคุณจะสามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร โดยไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมาก เรามาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนกันว่า คุกกี้คืออะไรมีคุกกี้ประเภทใดบ้างและคุกกี้แต่ละประเภทรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์คุณและประวัติการเข้าชมของคุณอย่างไร

การทำงานของคุกกี้มี 5 กระบวนการด้วยกัน

  1. คุณเข้าชมเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง
  2. เว็บเซิร์ฟเวอร์ส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเว็บเบราว์เซอร์ของคุณ
  3. เว็บเซิร์ฟเวอร์จะบันทึกข้อความดังกล่าวในรูปแบบของไฟล์ “cookie.txt”
  4. คุณคลิกไปยังหน้าอื่นๆของเว็บไซต์ เช่น หน้าสินค้า
  5. เว็บเซิร์ฟเวอร์จะส่งข้อความกลับไปยังเว็บเบราว์เซอร์ว่าคุณกำลังดูหน้าไหนของเว็บไซต์อยู่

ประเภทของคุกกี้

ประเภทของคุกกี้ตัวหลักๆที่ใช้งานบนเว็บไซต์ประกอบไปด้วย

  1. Session cookies
  2. Persistent cookies
  3. Third-party cookies
  4. First-party cookies
  5. Marketing cookies
  6. Performance and analytical cookies

ไปดูความหมายการใช้งานของแต่ละแบบกันครับว่ามีการใช้งานอย่างไร

1.Session cookies หรือ หน่วยความจำชั่วคราวของเว็บไซต์

คุกกี้เซสชั่นนี้จะทำงานก็ต่อเมื่อคุณเปิดเว็บไซต์เท่านั้น และเมื่อคุณปิดเว็บไซต์นี้คุกกี้เซสชั่นนี้ก็จะหายไป ไม่ได้มีการเก็บหรือบันทึกใดๆบนคอมพิวเตอร์ของคุณ คุกกี้จะทำงานแบบไหนบ้าง…

  • เมื่อมีการใช้งานตะกร้าสินค้าบนเว็บไซต์อีคอมเมิชทั้งหลาย
  • เรียกใช้ข้อมูลเดิมโดยไม่ต้องให้ข้อมูลซ้ำ เช่น ลงชื่อเข้าใช้งาน

2.Persistent Cookies หรือถ้าจะแปลตรงๆก็คือคุกกี้ที่อยู่แบบถาวร

คุกกี้ถาวรจะมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยกับคุกกี้ตัวอื่่นๆ คุกกี้เหล่านี้จะอยู่ในคอมพิวเตอร์ของคุณเมื่อคุณปิดเบราว์เซอร์ Persistent Cookies ได้รับการออกแบบมาเพื่อจดจำการตั้งค่าของคุณในช่วงเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการเข้าสู่ระบบ หรือสินค้าที่อยากได้เวลาที่คุณมีการช็อปปิ้งหรือรายการที่คุณดูล่าสุด

3.Third-party Cookies หรือคุกกี้ของบุคคลที่สาม

คุกกี้ประเภทนี้อาจจะไม่ค่อยได้รับความนิยมในสมัยนี้มากนัก หรือบอกได้ว่ากำลังจะล้าสมัยไปนั่นเอง แต่ศึกษาไว้ก็ดีครับ คุกกี้ชนิดนี้เป็นคุกกี้ที่อนุญาตให้ third party เข้าถึงและแสดงโฆษณาต่อผู้เข้าชมเว็บไซต์ อธิบายเป็นตัวอย่างง่ายๆคือ หากคุณคลิกโฆษณาในเว็บไซต์ A และกำลังจะเปิดเว็บไซต์ B หลังจากนั้นคุณจะได้รับคุกกี้จากเว็บไซต์ A บนคอมพิวเตอร์ของคุณทันที

4.First-party cookies หรือคุกกี้ของบุคคลที่หนึ่ง

สำหรับคุกกี้ของบุคคลที่หนึ่ง อย่าจำสับสนกับคุกกี้บุคคลที่สามนะครับ เพราะคุกกี้เหล่านี้จะมีการปรับปรุงการทำงานโดยรวมของเว็บไซต์และเจ้าของเว็บไซต์จะเป็นผู้กำหนดคุกกี้นั้นขึ้นมา ซึ่งจะมีความแตกต่างจากคุกกี้เซสชัน ที่หายไปทันทีหลังจากเซสชันของคุณได้สิ้นสุดลง แต่ในคุกกี้ประเภทนี้จะยังคงอยู่ในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของคุณ ดังนั้นเมื่อคุณเข้าใช้งานเว็บไซต์ในครั้งต่อไปจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณไม่จำเป็นต้องลงชื่อเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

5.Marketing Cookies หรือคุกกี้ทางการตลาด

คุกกี้ทางการตลาดคล้ายกับคุกกี้ของบุคคลที่สาม โดยหลักแล้วจะใช้เพื่อแสดงโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับคุณ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของคุณในขณะที่คุณท่องอินเทอร์เน็ต

6.Performance and analytical cookies หรือคุกกี้ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์

คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้บริษัทหรือเจ้าของเว็บไซต์สามารถประเมินประสิทธิภาพและความสามารถในการใช้งานโดยรวมของเว็บไซต์ของผู้เข้าชมได้  เช่น ระยะเวลาการเข้าชมเว็บไซต์ของผู้เข้าชม สิ่งที่ผู้เข้าชมเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ 

สรุป

เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้องเราจำเป็นจะต้องใช้คุกกี้ในการจดจำพฤติกรรมการใช้งานของผู้เข้าชม และในแง่ของผู้เข้าชมนั้นควรจะมีการพิจารณาในทุกครั้งก่อนที่จะยินยอมให้ข้อมูลเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงในแง่ของผู้ให้บริการเช่นเดียวกันถ้าเว็บไซต์ของเรามีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ควรจะมี consent ให้ผู้ใช้อ่านนโยบายการเก็บข้อมูลและยินยอมที่จะให้ข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องคุกกี้มากขึ้นนะครับ ติดตามบทความทางการตลาดที่คุณสามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจของคุณได้ที่นี่ Yes Web Design Studio

————————————————————————————————————–

และช่องทางอื่นๆที่คุณก็สามารถแวะไปทักทายกันได้ที่…

Facebook : yeswebdesignstudio

Instagram : yeswebdesign_bkk

Twitter : yeswebdesignbkk

มีโปรเจกต์ในใจแล้วใช่ไหม ?